สูตรอาหาร หมูสะเต๊ะ เมนูอาหารภาคใต้
ที่ได้รับความนิยมไปทั่วทุกภาคนี่
เชื่อไหมว่าเมนูนี้นี่มีจุดเริ่มต้นมาจากเกาะชวา อินโดนีเซียเชียว
อร่อยแล้วยังทำไม่ยากอีกด้วย
หยิบ
หมูสะเต๊ะ สีเหลืองขมิ้น
กระทบลิ้นต่อมรับรสบอกให้รู้ถึงความหอมของเครื่องเทศน่ารับประทาน
เนื้อหมูหมักด้วยเครื่องหมักจนได้ที่ ย่างพอสุกด้วยไฟถ่านร้อนกลางๆ
ทานทีไรรู้สึกถึงความนุ่มอร่อยได้ใจไปทุกที หมูสะเต๊ะ ไก่สะเต๊ะ
หรือจะเนื้อสะเต๊ะก็แล้วแต่นี่ หากจะเล่าถึงถิ่นกำเนิดความเป็นมานี่
มันสองซ้อนสามซ้อนจนบอกได้ยากเหมือนกันว่ามันเป็นเมนูต้นตำรับจาก เอเชีย
หรือยุโรป กันแน่ ว่ากันว่าอาหารประเภทสะเต๊ะที่เรานิยมรับประทานนี่ เดิมๆ
มีถิ่นกำเนิดจากเกาะชวา อินโดนีเซียนู่น หลังๆ
สะเต๊ะจึงได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลิปปินส์
มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่คนไทยเองก็เถอะ
แต่เชื่ออีกไหมละว่าตัวสะเต๊ะของชวาเองก็ได้รับอิทธิพลมาจาก คาบับ
เมนูยอดนิยมของชาวอินเดียเหนือ ลึกซึ้งไปกว่านั้น
คาบับนี่กลับเป็นเมนูที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารจานย่างของชาวเติร์ก ตุรกี
ไปเสียอีกนี่
อันนั้นเป็นที่มาที่ไปของสะเต๊ะโดยสังเขป
แต่จริงๆ วันนี้ตั้งใจจะมาชวนย่าง สะเต๊ะหมู ทานกันต่างหาก ดูๆ
แล้วสูตรมันไม่ยากนัก ทำทานกันเพลินๆ ในวันหยุดน่าจะดี
ส่วนผสมหมูสะเต๊ะ
- เนื้อหมู เลือกส่วนนุ่มๆ แล่บางๆ เป็นชิ้นๆ ขนาด 2.5 x 5 ซม. ซักราวๆ 500 กรัม
- ลูกผักชี คั่วให้หอม 2 ช้อนชา
- ลูกยี่หร่า คั่วให้หอม 1 ช้อนชา
- ข่า สับพอหยาบๆ 1 ช้อนชา
- ตะไคร้ หั่นแว่นบาง 1 ช้อนโต๊ะ
- หัวกะทิ ½ ถ้วย
- ขมิ้นผง 1 ช้อนชา
- ผงกะหรี่ 1 ช้อนชา
- ผงฟู ½ ช้อนชา
- เกลือป่น 1 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
- น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ สำหรับเสิร์ฟ
- น้ำจิ้มอาจาด สำหรับเสิร์ฟ
วิธีทำหมูสะเต๊ะ
- โขลก ลูกผักชีคั่ว และลูกยี่หร่าคั่ว จนละเอียด จากนั้นใส ข่า และตะไคร้ โขลกให้เข้ากันจนละเอียด
- หมักเนื้อหมูด้วย เครื่องที่โขลกไว้ (จากข้อ 1) หัวกะทิ ขมิ้นผง ผงกะหรี่ ผงฟู เกลือป่น และน้ำตาลทราย คลุกเคล้าด้วยมือให้เครื่องหมักซึมเข้าเนื้อหมู นำไปแช่ตู้เย็นซัก 2-3 ชั่วโมง หรือข้ามคืน
- ร้อยหมูด้วยไม้เสียบ นำไปย่างด้วยเตาถ่านจนสุก ใช้ไฟร้อนซักปานกลาง หมั่นทาหมูที่ย่างด้วยน้ำหมักหมูทีเหลือ
- จัดหมูสะเต๊ะใส่จานเสิร์ฟ เสิร์ฟพร้อมกับ น้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ และน้ำจิ้มอาจาด
ทิป: นอกจากหมูสะเต๊ะแล้ว สูตรนี้ยังสามารถใช้ประยุกต์ทำ เนื้อสะเต๊ะ ไก่สะเต๊ะ ได้ด้วย
ที่มา:kangtung